บัญญัติ 6 ประการแก้อาการพูดเร็ว

people-train-public-transportation-hurry

ใครรู้ตัวว่าเป็นคนพูดเร็วบ้าง ยกมือขึ้น?

แค่ไหนเรียกว่าพูดเร็ว วิธีเช็คที่ง่ายที่สุดคือถามผู้ฟังค่ะ ว่าฟังทันและฟังรู้เรื่องหรือเปล่า คนพูดเร็วส่วนมากจะเป็นคนคิดและทำอะไรเร็วอยู่แล้วเป็นทุนเดิม นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำหลายคนพูดเร็วขึ้นกว่าปกติก็คือความตื่นเต้น ความประหม่า ความไม่พร้อม ความไม่มีสติรู้เนื้อรู้ตัว แต่ก็มีเหมือนกันที่พูดเร็วๆ รัวๆ เพราะความบกพร่องทางด้านร่างกาย เช่น เป็นโรคอย่างพาร์กินสัน เป็นต้น

เมื่อพูดเร็วบ่อยครั้งเข้า ก็มักจะติดเป็นนิสัยจนแก้ไขได้ยาก ยิ่งถ้าบังเอิญต้องพูดจากันแบบได้ยินแต่เสียง เช่น พูดโทรศัพท์แล้วล่ะก็ เรียกว่าสื่อสารกันแทบไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว คนพูดเร็วนอกจากจะมีปัญหาในการสื่อสารแล้ว ยังมักถูกมองว่าเป็นคนพูดจา “ล่กๆ” ไม่น่าเชื่อถือ ไม่สุขุมคัมภีรภาพเท่าที่ควร

อาการพูดเร็วนั้นรักษาให้หายได้ แต่ต้องใช้เวลาฝึกฝนและใช้ความพยายามอย่างมากในการดัดนิสัย ดังนั้น เมื่อรู้ตัวหรือมีใครบอกว่าเราพูดเร็วเกินไป ให้ลองแก้ไขด้วยเทคนิคง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  • A admit – ยอมรับปัญหา ขั้นแรกต้องเริ่มจากรู้ตัวและยอมรับก่อนว่าเรานี่พูดเร็วเกินไปแล้วนะ จะได้บอก(สั่ง)ตัวเองให้พูดช้าลง แน่นอนว่าคงไม่มีใครสั่งตัวเองได้ทันทีทันใด จึงต้องฝึกๆๆๆ ไปจนกว่าจะหาย

 

  • B breathe – จัดการกับลมหายใจ ปัญหาพูดเร็วบางครั้งเกิดจากเราหายใจตื้นๆ สั้นๆ พอเราพยายามพูดประโยคยาวๆ ในจบในแต่ละช่วงลมหายใจ จึงทำให้ต้องรีบพูดให้เร็วขึ้น เวลาตื่นเต้นคนเรามักหายใจติดๆ ขัดๆ อยู่แล้ว จึงยิ่งเร่งปฏิกิริยาให้พูดเร็วขึ้นไปอีก วิธีแก้คือ จัดการกับความประหม่า ให้ได้เสียก่อน ส่วนคนที่มีปัญหาพูดเร็วแบบเรื้อรัง ควรออกกำลังกายเป็นประจำ ฝึกหายใจให้ได้ลึกและยาวขึ้น และฝึกใช้ลมหายใจให้พอดีกับข้อความพูด

    มาเรียน ริช (Marian Rich) ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เสียงและการพูดแนะนำว่า ให้ลองแบ่งข้อความที่จะต้องพูดออกเป็นประโยคสั้นๆ หายใจเข้า แล้วพูดประโยคนั้นด้วยเสียงกระซิบ ใส่ลมเข้าไปให้เต็มที่ กะให้จบประโยคพอดีในหนึ่งช่วงลมหายใจ จากนั้นก็เว้นวรรค หายใจเข้าให้เต็มที่ ก่อนจะกระซิบประโยคถัดไป ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจบข้อความ ระหว่างที่พูดลองเอามือวางที่ท้อง(พุง)ไปด้วย สังเกตว่าท้องควรป่องเมื่อหายใจเข้า และค่อยๆ แฟ่บลงเมื่อเราหายใจออกหรือเปล่งเสียงพูด

 

  • C Clear – อ้าปาก ออกให้ชัดทุกเสียง บางคนพูดเร็วเพราะพูดไม่เต็มพยางค์พูดรวบคำ พูดพึมพำอยู่ในปาก เช่น “สวัสดีค่ะจะไปไหนคะ” กลายเป็น “สะดีค่ะ จะปะงะคะ” ทำให้คนฟังฟังไม่รู้เรื่อง วิธีแก้ไขที่ใช้ประจำคือให้เปิดปากมากขึ้นเวลาพูด ทำแบบฝึกหัดบริหารกล้ามเนื้อช่วงขากรรไกรให้รู้สึกผ่อนคลาย  แล้วฝึกพูดช้าๆ ให้ชัด ให้เต็มทุกเสียงในพยางค์ เช่น คำว่า ไป ต้องออกให้ครบตั้งแต่ /ป/ /อะ/ /ย/ สัมผัสทุกการสั่นสะเทือนเคลื่อนไหวของอวัยวะกำเนิดเสียง จัดรูปปาก รูปลิ้น รูปฟันให้ถูกตำแหน่งแบบไม่ต้องห่วงหล่อห่วงสวย ถ้ามีข้อความที่ต้องพูดสัก 2-3 บรรทัดก็ให้ลองนำมาฝึกออกเสียงทุกคำต่อเนื่องกันแบบช้าๆ ชัดๆ ดูก่อน แล้วจึงค่อยปรับให้เร็วและเป็นธรรมชาติมากขึ้น

 

  • D double – จับเวลาแล้ว x  2 อีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้เป็นประจำคือ ให้นักเรียนลองพูดตามธรรมชาติของตัวเอง แล้วจับเวลา ได้เท่าไรให้ x 2 เข้าไป กำหนดเป็น “เป้าหมาย” เอาไว้ แล้วกลับไปดูบทพูดที่เตรียมมา ลองดูว่าจะ “ยืด” หรือปรับการออกเสียงตรงไหน และจะทำให้ช้าลงได้อย่างไรบ้าง ทำเครื่องหมายในบทพูดไว้ ฝึกพูดเฉพาะส่วน แล้วลองพูดใหม่ทั้งหมดอีกรอบ ถ้ายังไม่ได้ตามเวลาที่ตั้งใจไว้ก็กลับไปแก้ไข พูด แล้วจับเวลาซ้ำอีกครั้ง ฝึกเรื่อยๆ จนสามารถควบคุม (เพิ่มและลด) ความเร็วในการพูดได้ดังใจ

 

  • E engage – ให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม เวลาเราคิดว่ากำลังพูดหรือนำเสนอ บางครั้งก็ทำให้เราเผลอพูดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น เพราะใจคิดแต่เพียงว่าเรามาพูด จึงต้องรีบพูดสิ่งที่เตรียมมาให้จบ แต่ความจริงแล้วเราไม่ได้แค่มาพูดเฉยๆ  มาพูดให้ผู้ฟังฟัง สองอย่างนี้ต่างกันมาก ถ้าเราใส่ใจกับผู้ฟังมากขึ้นก็จะรู้ว่าผู้ฟังมีปฏิกิริยาอย่างไร ติดตามสิ่งที่เราพูดได้ทันหรือไม่ อาจจะลองปรับจากการพูดเป็น “คุย” กับผู้ฟัง หรือดึงให้ผู้ฟังมามีส่วนร่วม เช่น ตั้งคำถามและใช้เวลารอคำตอบจากผู้ฟังบ้าง ก็จะช่วยลดสปีดการพูดของเราลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

  • F Focus – มีสติ อย่าลืมตัวเป็นอันขาดว่าเรากำลังพยายามพูดให้ช้าลงอยู่ บางคนแรกๆ ก็คุมจังหวะได้ดี แต่สักพักหนึ่งก็กลับไปพูดรัวเป็นไฟไม่ต่างจากเดิม วิธีแก้คือ อาจจะหาใครสักคนคอยช่วยส่งสัญญาณเตือนก็ได้ว่าเร็วไปแล้ว ช้าหน่อยๆ หรือมิฉะนั้นอาจลองหาต้นแบบที่ความเร็วในการพูดกำลังดี ให้เขาลองอ่านบทพูดที่ต้องการฝึกให้ฟังแล้วเคาะจังหวะตาม พอจับจังหวะได้แล้วเวลาฝึกพูดเองก็ลองเคาะจังหวะไปด้วย หรือจะใช้เครื่องเคาะจังหวะ (metronome) ช่วยก็ได้ มีทั้งแบบเครื่องจริงๆ และแบบ App ในมือถือให้ดาวน์โหลด ถ้าแบบบ้านๆ หน่อย บางทีก็เคยให้นักเรียนนับประคำหรือกำลูกบอลยางเล็กๆ ไปด้วยเพื่อเตือนตัวเองขณะที่พูด ก็ใช้ได้ผลดีเหมือนกัน

อย่าลืมว่าไม่มีใครทำให้เราพูดช้าลงได้ นอกจากตัวของเราเอง ใครที่รู้ตัวว่ามีปัญหาพูดเร็ว ลองนำหลัก ABCDEF 6 ข้อข้างต้นไปลองปรับใช้ดูนะคะ

One thought on “บัญญัติ 6 ประการแก้อาการพูดเร็ว

ใส่ความเห็น